เบื้องของเหล่าอาชาในกองทหารม้าเกียรติยศในพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์

กรมการสัตว์ทหารบก อีกหนึ่งหน่วยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในการดูแลความสมบูรณ์เรียบร้อยของเหล่าอาชาในกองทหารม้าเกียรติยศในพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์

เสียงกุบกับของเกือกเท้าเมื่อยามกระทบพื้น ความพริ้วไหวของแผงคอยามสะบัดตามจังหวะการเหยาะย่าง ความเงางามมันระยับของเส้นขนเมื่อยามต้องกระทบแดด ทั้งหมดเหล่านี้เมื่อมาประกอบกันกับเครื่องแบบเต็มยศของเหล่าทหารม้ารักษาพระองค์และเดินอยู่ในรูปขบวนแถวกองเกียรติยศ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสง่างามเข้มแข็งตราตรึงแก่ผู้คนที่พบเห็น

ในทุกการสวนสนาม ม้าไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญที่สะท้อนถึงความพร้อม ความสามัคคี และความทุ่มเทของกองทัพ ด้วยเหตุนี้การเตรียมความพร้อมของม้าก่อนภารกิจสวนสนามจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความใส่ใจ และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าม้าทุกตัวจะปฏิบัติภารกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แต่ความสง่างามสมบูรณ์แบบนี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้เลยหากปราศจากผู้ที่คอยดูแลความเรียบร้อยของเหล่าบรรดาม้าทุกตัวที่ใช้ในพิธี ซึ่งในโพสต์นี้แอดมินจะมานำเสนอเรื่องราวของหน่วยผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยดูแลสุขภาพร่างกายของเหล่าบรรดาม้าเพื่อให้มีความพร้อมสำหรับเข้าร่วมในพิธีสวนสนาม ซึ่งหน่วยนั้นก็คือ “กรมการสัตว์ทหารบก” นั่นเองครับ

โดยกรมการสัตว์ทหารบก จัดอยู่ในส่วนของกรมฝ่ายยุทธบริการของกองทัพบก มีภารกิจในการดำเนินการส่งกำลังบำรุงสิ่งอุปกรณ์สายการสัตว์ ตลอดจนกำหนดหลักนิยมและจัดทำตำราการฝึกศึกษาเกี่ยวกับกิจการและสิ่งอุปกรณ์ของเหล่าทหารการสัตว์ สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารด้วยการใช้สัตว์ทางทหารแก่กองทัพบก และมีภารกิจสำคัญในพิธีสวนสนามหรือพิธีการใดๆ ที่กองทัพบกต้องใช้สัตว์ในการเข้าร่วม ทางกรมการสัตว์ทหารบกจะเป็นหน่วยเบื้องหลังในการรับผิดชอบดูแลตั้งแต่เริ่มจนจบภารกิจ เช่นเดียวกับภารกิจการดูแลและเตรียมม้าให้พร้อมสำหรับการสวนสนามที่จะมาว่ากันถึงรายละเอียดกันต่อไปครับ

โดยขั้นตอนแรกของกรมการสัตว์ทหารบกในการเตรียมม้าสำหรับการสวนสนามคือ ‘การกรูมมิ่ง’ หรือการดูแลขนและร่างกายของม้าให้สะอาดและดูสง่างามที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพและสร้างความผ่อนคลายให้กับม้าด้วย การปฏิบัติบำรุงม้าหรือการกรูมมิ่ง เริ่มจากการที่นำม้าออกมาแล้วทำการใช้กาดแห้งด้วยการใช้กาดยางหรือว่ากาดเหล็ก เพื่อเอาสิ่งสกปรกไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือว่าเศษหญ้าที่ติดอยู่ตามผิวหนังใต้ขนของม้าออกให้สะอาด หลังจากนั้นก็ใช้แปรงปัดขนปัดฝุ่นออกจนดูว่าสะอาดเรียบร้อย จากนั้นก็นำม้าไปเข้าขั้นตอนต่อไป คือทำการอาบน้ำ

ขั้นตอนการอาบน้ำม้า อันดับแรกทำการฉีดน้ำให้ทั่วตัว แล้วก็ลงแชมพู เสร็จแล้วก็ใช้แปรงสำหรับกาดขน ในการอาบน้ำจะมีแปรงอีกครั้งนึง สำหรับแปรงเอาคราบเหงื่อคราบไคลหรือว่าฝุ่นอะไรต่างๆ ที่ยังติดอยู่บริเวณต่างๆ บนตัวม้าออกอีกครั้ง หลังจากนั้นทำการล้างตัวด้วยน้ำสะอาด
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเช็ดตัว โดยเริ่มไล่มาตั้งแต่หน้า คอ ตัว แล้วก็ไล่ลงไปด้านล่างไปตามขา กีบ แล้วก็เช็ดใต้พื้นกีบ ให้แห้ง แปรงขนให้เรียบร้อย และตรวจเช็คตามตัวม้าว่ามีรอยแผลไหม ถ้าไม่มี ก็สามารถแต่งเครื่องม้าออกไปปฏิบัติภารกิจได้เลย หลังจากนั้นเมื่อเช็ดตัวเรียบร้อย ก็นำม้ากลับเข้าไปในโรงที่พักเพื่อผึ่งพัดลมให้ตัวแห้ง เมื่อม้าพร้อมแล้วก็จะมาสู่ขั้นตอนการแต่งตัวหรือว่าใส่เครื่องม้าต่อไป (สำหรับการปฏิบัติบำรุงหรือว่าการกรูมมิ่งจะทำด้วยกัน 2 ครั้ง คือก่อนใช้ม้า 1 ครั้ง และหลังใช้ม้าอีก 1 ครั้ง)

ภายหลังจากการกรูมมิ่งจนม้ามีความพร้อม และใส่เครื่องม้าเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำม้ามาเข้าขบวนและสวนสนาม ซึ่งในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ม้าต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพม้าระหว่างภารกิจสวนสนามจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับม้าในระหว่างสวนสนามนั้นจะมีหลักๆ อยู่ด้วยกัน 2-3 อย่าง ได้แก่เกือกหลวมไม่กระชับ, โรคลมร้อนหรือฮีสทโตรก, แล้วก็บาดแผลที่มีการบาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงแผลขนาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้ทาง กส.ทบ.จะมี จนท.ชุดติดตามดูแลม้า ที่จัดเป็นชุดเคลื่อนที่คอยไปกับขบวนเสด็จไม่ว่าจะเป็นตอนซ้อมและตอนวันจริง โดยจะคอยตรวจเช็คม้า ทั้งม้าทรงประจำพระองค์และม้าอื่นๆ ในขบวน ว่ามีตัวไหนเกิดปัญหาอะไรที่ว่ามาข้างต้นหรือไม่ หากม้าตัวไหนเกือกหลวมไม่กระชับก็จะมี จนท.เข้ามาทำการตอกเกือกให้แน่น หรือถ้ามีม้าตัวไหนเกิดอาการฮีทสโตรก จนท.ก็จะทำการแยกม้าออกจากขบวนมาเข้าที่ร่มและทำการปฐมพยาบาลจนกว่าจะดีขึ้น หรือหากมีม้าตัวไหนเกิดการบาดเจ็บจากการเตะ ดีด หรือกัดกัน (ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกันของม้าเมื่อมีการมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่) หากเป็นแผลเล็กน้อย จนท.จะทำการรักษาบาดแผลให้เรียบร้อย ณ สถานที่นั้นเลย แต่หากเป็นบาดแผลขนาดใหญ่เกินความสามารถที่จะรักษาได้ด้วยเครื่องมือปฐมพยาบาลของ จนท.ในชุด ก็จะทำการประสานเคลื่อนย้ายม้าไปรักษาต่อยัง “ศูนย์บริการสุขภาพและเวชศาสตร์ฟื้นฟูม้า หน่วยม้าทรงประจำพระองค์” ซึ่งจะเป็น รพ.ที่ตั้งหลักที่มีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการรักษาดูและและฟื้นฟูสภาพร่างกายม้าอย่างครบวงจรกันต่อไป

สำหรับการรักษาพยาบาลจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ชุด ก็คือชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่, ชุด รพ.สนามหลัก, รพ.สนามรอง และ ชุด รพ.ที่ตั้ง ถ้าหากว่าม้ามีความผิดปกติหรือว่าเกิดปัญหาขึ้นในขบวน ตัวชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายม้าออกมาทำการรักษาปฐมพยาบาลในชุดโรงพยาบาลสนาม ส่วนชุดโรงพยาบาลสนามที่รับม้าออกมาแล้ว ก็จะรักษาภาวะฉุกเฉินจนกระทั่งม้าสามารถเคลื่อนย้ายได้ แล้วก็จะทำการพิจารณาว่าถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาต่อเนื่องหรือว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงก็อาจจะพิจารณาส่งม้านั้นไปที่โรงพยาบาลที่เป็นที่ตั้งซึ่งมีอุปกรณ์ที่พร้อมกว่าต่อไปครับ

จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการดูแลม้าเพื่อให้พร้อมสำหรับการสวนสนามนั้นมีหลายขั้นตอนมาก โดยทุกขั้นตอนต้องใช้ จนท.ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการปฏิบัติ เพราะม้าทุกตัวต้องมีการดูแลเอาใจใส่เพื่อให้พร้อมสำหรับภารกิจและพิธีต่างๆ อยู่เสมอ ม้าเหล่านี้ไม่ใช่เพียงผู้ช่วยในภารกิจ แต่คือเพื่อนแท้ทำศึกคู่บ้านคู่เมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นทั้งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด ความเป็นเอกราช อิสรภาพ ความกล้าหาญ เเละเป็นทั้งมิตรภาพระหว่างม้ากับผู้ขี่เคียงข้างกองทัพมาโดยตลอด ด้วยความใส่ใจและการดูแลสวัสดิภาพที่มีมาตรฐาน จะเป็นสิ่งสำคัญที่ยืนยันได้ว่าม้าเหล่านี้จะยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างสง่างาม และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในทุกภารกิจของกองทัพไทยต่อไป

Scroll to Top